ประวัติ ของ แม็คโคร (ประเทศไทย)

ในช่วงปี พ.ศ. 2530 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ริเริ่มแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของซีพีตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิตสินค้าทางการเกษตร กลางน้ำ คือการจัดจำหน่าย ไปจนถึงปลายน้ำ คือการสร้างร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าของบริษัทไปสู่ผู้บริโภค[3] จึงเกิดการศึกษาความเป็นไปได้จนได้ข้อสรุปเป็นการประกอบธุรกิจ 3 ประการ คือ แม็คโคร ซันนี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซเว่น อีเลฟเว่น[4] โดยแม็คโครได้เกิดขึ้นจากการที่ซีพีชักชวนบริษัทเอสฮาเฟโฮลดิงส์ บริษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่เป็นตัวกลางดำเนินแผนการธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่[5] ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการแม็คโครสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาทำร่วมทุนเปิดแม็คโครในประเทศไทย ในขณะที่แม็คโครกำลังรุกเข้ามาทำธุรกิจในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อทำธุรกิจร่วมกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 และจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ในนามบริษัท เอเซีย แม็คโคร จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท[6] โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 51[7] เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชําระเงินสดและบริการตนเอง (Cash&carry)[8] ภายใต้ชื่อ แม็คโคร โดยมีเป้าหมายลูกค้าคือ ผู้ประกอบการร้านโชว์ห่วย ธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2532 แล้วจึงเปิดให้บริการสาขาแรก ซึ่งยังเป็นสาขาแรกในทวีปเอเชียบนถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วยพื้นที่ขาย 11,566 ตารางเมตร ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2532[6] แม็คโคร ทำหน้าที่เสมือนศูนย์กลางการนำสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่ายให้ผู้ประกอบการ ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าโครงสร้างตลาดแบบเดิมที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายชั้น[9]

ในปี พ.ศ. 2533 แม็คโคร ได้เปิดสามสาขาที่ แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ และบางบอน เพื่อให้ครบพื้นที่สี่มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร และยังได้ร่วมกับผู้ถือหุ้นเปิดบริษัท แม็คโคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 235 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้บริษัทเช่าสำหรับเปิดสาขา ในเดือนมิถุนายน แม็คโคร ยังได้เริ่มต้นจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของตนเอง เช่น Makpak Makon M&K เป็นต้น[6] ในปี พ.ศ. 2536 แม็คโคร ยังได้ขยายสาขาสู่ภูมิภาคเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 แม็คโคร ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,400 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีหุ้นสามัญจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 4,800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท[10] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 แม็คโคร ได้เปิดศูนย์บริการรถยนต์ แม็คโคร ออโต เอ็กซ์เพรส เป็นแห่งแรกที่สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นศูนย์บริการเปลี่ยนอุปกรณ์รถยนต์อย่างเร่งด่วน และได้เปิดศูนย์เครื่องใช้สำนักงานแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์เป็นแห่งแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานขายเครื่องใช้สำนักงาน และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานให้แก่ลูกค้าทั่วไป โดยจะเป็นร้านที่แยกออกมาจากสาขาใหญ่ของแม็คโคร ในปี พ.ศ. 2540 ทั้งสองธุรกิจได้พัฒนาขึ้นจนได้ดำเนินการเป็นเอกเทศในรูปบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาททั้งสองบริษัท[6]

หลังการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นร้อยละ 75 ของโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ให้กับกลุ่มเทสโก้ เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ เพื่อให้รักษาธุรกิจหลักคือ การเกษตรให้ได้ แต่แล้วซีพีก็จำเป็นที่ต้องเลือกขายหุ้นของสยามแม็คโครโดยส่วนใหญ่ เพราะการขายโลตัสยังคืนหนี้ได้ไม่หมด ซึ่งหากคืนหนี้ได้ไม่หมดซีพีจะล้มละลายไปด้วย[11][12]

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการของสยามแม็คโครได้บรรจุวาระการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราประทับ และเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น CPAXT ให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันที่ 20 เมษายน[13] ทั้งนี้ ยังคงใช้ตราสินค้า "แม็คโคร" และ "โลตัส" สำหรับธุรกิจของบริษัทเช่นเดิม[14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แม็คโคร (ประเทศไทย) http://www.brandage.com/article/9336/7/ http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/44... http://gotomanager.com/content/833/ http://www.matichonweekly.com/column/article_60000... http://www.settrade.com/C04_03_stock_companyhighli... http://www.workpointtoday.com/thanin-cp-1-day-glad... http://www.prachachat.net/d-life/news-379506 http://www.siammakro.co.th http://www.siammakro.co.th/pdf/56-1/MAKRO-Form-56-... http://www.siammakro.co.th/pdf/annual/MakroAnnualR...